หน้าเว็บ

สาเหตุการเกิดดินถล่ม

ปัจจัยทางธรรมชาติ
    ·   เกิดฝนตกหนักเป็นเวลานานบนที่ลาดเชิงเขาหรือภูเขาสูง ซึ่งดินถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากฝนตกหนัก ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ตึงเลื่อนไหลและถล่มลงมาได้
    ·   การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว จากกรนะแสน้ำขึ้น-น้ำลง การลดระดับของน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำ
    ·   การกัดเซาะของดิน จากกระแสน้ำในแม่น้ำ คลื่นซัดฝั่ง การผุพังของมวลดินและหิน ทำให้ความหนาแน่นของมวลดินลดลง
    ·   การเกิดภัยธรรมชาติอื่นๆ ในลักษณะรุนแรง อาทิ แผ่นดินไหว คลื่นซัดฝั่ง ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย ทำให้ความหนาแน่นของมวลดินลดลง เกิดการชะล้างและพังทลายของมวลดินและหิน


การกระทำของมนุษย์

·   การตัดไม้ทำลายป่า การกำจัดพืชที่ปรกคลุมดิน ทำให้ไม่มีรากไม้ยึดเกาะหน้าดิน ส่งผลให้ดินชุ่มน้ำ จนไม่สามารถรับน้ำหนักไว้ได้ จึงเลื่อนไหลและถล่มลงมา

·   การก่อสร้างในบริเวณเชิงเขาที่ลาดชัน อาทิ การสร้างถนน การสูบน้ำใต้ดิน การทำเหมืองแร่ การระเบิดหิน การสร้างอ่างเก็บน้ำ ทำให้ดินมีความลาดชันเพิ่มขึ้น

·   การทำเกษตรในพื้นที่ลาดชัน ทำให้ต้องกำจัดวัชพืชที่ปกคลุมดินหรือปรับพื้นที่ให้มีลักษณะเป็นขั้นบันไดส่งผลให้ดินขาดความสมดุล

·   กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีความลาดชันเพิ่มขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของน้ำผิวดินและน้ำบาดาล เมื่อฝนตก น้ำจึงไหลผ่านหน้าดินอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มวลดินมีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดดินถล่ม เมื่อมีฝนตกหนักบริเวณพื้นที่สูงอย่างต่อเนื่อง                                               








    การแบ่งชนิดของดินถล่ม
     การจำแนกประเภทของการพิบัติของลาดดินที่นิยมคือการจำแนกตามลักษณะการพิบัติของลาดดิน วิธีนี้เสนอโดย Varnes ชนิดของการถล่มที่นิยมแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่
    ·   การร่วงหล่น (Falls) เป็นการพิบัติในลักษณะที่ชิ้นส่วนของมวลดินหรือหิน แตกออกจากชิ้นส่วนหลักแล้วร่วงหล่นอย่างอิสระ หรือกลิ้งลงมาตามแนวลาดที่มีความชันสูง มีอัตราการเคลื่อนตัวมากกว่า 1 เมตรต่อวินาที
    ·   แบบกลิ้งไปข้างหน้า (topples) หรือการล้มคะมำ เป็นการพิบัติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของของมวลวัสดุ เช่นหินหรือดิน ที่เกิดการเอียงตัว โดยที่มวลวัสดุนั้นยังไม่เกิดการพังทลายก่อนการล้มคะมำ เมื่อมวลวัสดุล้มคะมำแล้วจะหมุนตัวลงสู่ลาดอย่างรวดเร็ว กรณีนี้จะเกิดเมื่อวัสดุที่มีความแข็งแรงวางตัวอยู่เหนือวัสดุที่แข็งแรงน้อยกว่า
    ·   แบบเลื่อนไถล (Slides) เป็นการเคลื่อนตัวของมวลดินหรือหินผ่านแนวระนาบที่มีความแข็งแรงน้อยที่สุด โดยอัตราการเคลื่อนตัวอยู่ในช่วง 0.06 เมตรต่อนาที ถึง 0.3 เมตรต่อนาที โดยแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้    
    o แบบ Rotational Slides แนวการพิบัติจะมีลักษณะเป็นส่วนโค้งของวงกลม    
    o แบบ Translation Slides แนวการพิบัติไม่เป็นส่วนโค้งของวงกลม แต่จะมีแนวของการพิบัติเกือบอยู่ในระนาบ โดยทั่วไปทิศทางของการเคลื่อนตัวจะถูกจำกัดไปตามระนาบของผิวดินอ่อน
    ·   แบบเคลื่อนตัวขยายไปด้านข้าง (Lateral spreads) มีลักษณะการเคลื่อนตัวเป็นการขยายตัวไปด้านข้างของมวลวัสดุ การเคลื่อนที่แบบนี้มักพบในดินประเภท Sensitive Silt and Clay
    ·   แบบไหล (Flows) มักพบในวัสดุที่ไม่มีการยุบอัดแน่น เช่น ก้อนหิน กรวด ทราย และเม็ดดิน โดยจะไหลลงตามแนวลาดเอียงของเชิงเขาเป็นผิวขนานกับผิวหน้าของลาดที่มีความชันสูง โดยมีอัตราการเคลื่อนตัว 0.3 เมตรต่อนาทีถึงมากกว่า 3 เมตรต่อนาที 
    ·   แบบผสม (Complex ) มีลักษณะการเคลื่อนตัวที่ประกอบด้วยหลายรูปแบบรวมกันเช่น การเคลื่อนพังที่ประกอบด้วย Rock Slide, Rock fall, earth flow เป็นต้น 

รูปแบบการพิบัติแสดงดังรูป




     กระบวนการเกิดดินถล่ม    
    ·  เมื่อฝนตกหนักเป็นเวลานาน น้ำจะซึมลงไปในดิน จนกระทั่งดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ความดันของน้ำในดินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความดันในช่องว่างของดิน    
    ·  เมื่อความดันของช่องว่างภายในดินสูงถึงระดับหนึ่ง (Critical Point) ในขณะเดียวกัน แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคดินซึ่งเป็นผลจากแรงดึงระหว่างอากาศและน้ำในช่องว่างก็จะลดลง เนื่องจากน้ำเข้าไปแทนที่อากาศในช่องว่างเหล่านั้น    
    ·  จุดสมดุลก่อนที่ชั้นดินจะเริ่มต้นการเลื่อนไหลเมื่อชั้นดินมีแรงกระทำที่ทำให้เกิดการเลื่อนไหล คือน้ำหนักของมวลดินเองและน้ำหนักของน้ำ  เท่ากับ แรงต้านทานการเลื่อนไหลของดิน    
    ·  ดินเกิดการเลื่อนไหลลงมาเมื่อ ชั้นดินมีแรงกระทำที่ทำให้เกิดการเลื่อนไหล มากกว่า แรงต้านทานการเลื่อนไหลของดิน